วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สุขศึกษา เรื่อง ปัญหาความรุนแรงของเยาวชน



                        ในการกระทำความรุนแรงใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่นจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามความรุนแรงที่ว่านั้นมักมีผลตามมาเสมอ ผลจากความรุนแรงจะมีมากน้อยเพียงไรย่อมขึ้นอยู่ที่ระดับความรุนแรงของการกระทำ และสภาวะจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นสำคัญ ทั้งนี้อาจรวมถึงเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมและบริบททางวัฒนธรรมด้วย
        การกระทำรุนแรงนั้นหากไม่ได้กระทำกับตนเองแล้วส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า กระทำกับผู้ที่อ่อนแอกว่า เช่น สามีกระทำกับภรรยา ญาติผู้ใหญ่กระทำกับเด็ก ครูกระทำกับนักเรียน หรือเพศชายกระทำกับเพศหญิง เป็นต้น สำหรับผลที่เกิดจากการกระทำความรุนแรงคือผลร้ายต่อร่างกายและจิตใจ ผลต่อร่างกายมีตั้งแต่บาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต สำหรับผลต่อจิตใจนั้นก็มักต่อเนื่องยาวนานและกลายเป็นปัญหาสังคม
อื่น ๆ ตามมา ที่สำคัญการบำบัดรักษาต้องใช้เวลาและกระทำได้ยาก
                      ความรุนแรงในสังคมไทย
        การกระทำรุนแรงในสังคมไทยเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน ความรุนแรงบางอย่างเป็นผลมาจากความคิดความเชื่อของคนในสังคมที่กระทำระหว่างกัน บางอย่างเกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติของคนในสังคม บางอย่างเป็นความรุนแรงที่กระทำระหว่างคนใกล้ชิด และบางอย่างเป็นภัยทางสังคมซึ่งพบเห็นได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน

                                 
การกระทำรุนแรงอันเกิดจากความคิดความเชื่อของคนในสังคม เป็นสิ่งละเอียดอ่อน บางอย่างแฝงมากับความเชื่อในรูปแบบของค่านิยม หรือสืบทอดผ่านทางวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละสังคม จนเกิดการยอมรับ และมักมองข้ามลักษณะความรุนแรงที่ปรากฏ เช่น การนิยมเจาะหูให้แก่ลูกผู้หญิง การนิยมมีรอยสักแก่ผิวหนังของตนเอง สิ่งเหล่านี้ในสังคมมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ทั้ง ๆ ที่เป็นความรุนแรงที่กระทำขึ้นระหว่างแม่ต่อลูกหรือกระทำกับตนเอง 
                                  การกระทำรุนแรงระหว่างกันตามความเชื่อของไทยโดยทั่วไปแม้จะไม่รุนแรงถึงขนาดทุบตีและยิงทิ้งกันต่อหน้าต่อตาผู้อื่นอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎ หรือลวงมาฆ่าหมู่อย่างลัทธิบางลัทธิในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก แต่ความเชื่อบางอย่างในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยก็มีลักษณะการกระทำรุนแรงจากผลของความเชื่อมิใช่น้อย ในอดีตเวลาก่อสร้างเจดีย์หรือพระธาตุบางแห่งต้องฝังคนเป็น ๆ ข้างใต้แท่นฐาน หรือบางแห่งมีวิธีการรักษาคนเป็นโรคจิตด้วยด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ มีการไล่ผีให้ออกจากตัวโดยการเฆี่ยนตีหรือราดด้วยน้ำร้อน บางแห่งมีพิธีเลี้ยงผีอารักษ์เมืองและมีการฆ่าสัตว์สังเวยแสดงความรุนแรง หรือตัวอย่างการขับไล่ผู้สงสัยว่าเป็นผีปอบไปอยู่นอกเมืองหรือที่ห่างไกลผู้คน ใช้วิธีการที่รุนแรง เช่น ขว้างปา รุมทำร้าย หรือรื้อถอนบ้าน ซึ่งเกิดผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งร่างกายและจิตใจ

                                  
การกระทำรุนแรงที่เกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติ การกระทำรุนแรงเช่นนี้มักเกิดจากคนที่มีจิตใจไม่ปกติซึ่งปะปนอยู่ในสังคม มีทั้งที่เราสังเกตเห็นและไม่เห็น ระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของภาวะจิตใจ เช่น คนเป็นโรคจิตประเภทคลั่งสลับซึม ที่ก่อเหตุทำร้ายแก่คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวจนเป็นข่าวให้เห็นอยู่เสมอ คนที่คับข้องใจและแสดงความก้าวร้าวต่อภาวะคับข้องใจด้วยการกระทำรุนแรงต่อตนเองโดยการฆ่าตัวตายในสังคมไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าคนไทยใช้วิธีฆ่าตัวตายโดยการกินยามากถึง 70 % รองลงมาคือแทงตัวเอง กระโดดจากที่สูง ยิงตัวตายและผูกคอตาย นอกจากนั้นยังมีการกระทำรุนแรงอันเกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติให้เห็นอีกมากมาย เช่น คนเป็นเอดส์แพร่เชื้อโดยใช้เข็มวิ่งไล่แทงคนอื่น คนวิปริตทางเพศโชว์อวัยวะเพศต่อหน้าดาราที่ตนคลั่งไคล้จนเกิดความหวาดกลัว เป็นต้น 

                                 
        การกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างคนใกล้ชิด ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขั้นส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ลักษณะความรุนแรงมีตั้งแต่ดุด่าด้วยถ้อยคำ ลงโทษด้วยวิธีการแปลก ๆ ทำร้ายร่างกาย และคุกคามทางเพศ ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กและผู้หญิง
                            สถานการณ์การกระทำรุนแรง
        จากการศึกษาวิจัยได้พบข้อมูลของการกระทำรุนแรงระหว่างคนใกล้ชิดที่น่าสนใจหลายประการ เช่น การข่มขืนผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดกับวัยผู้ใหญ่คืออายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในช่วงเวลา 18.00 – 24.00 น. ส่วนใหญ่เกิดเหตุในโรงแรมและเป็นการกระทำของญาติหรือเพื่อนสนิท โดยมักมีการดื่มสุราก่อนก่อเหตุเสมอ สำหรับการละเมิดทางเพศในโรงเรียน เด็กที่ถูกละเมิดทางเพศส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่นหรือแตกแยก และครอบครัวใหม่ไม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยทางโรงเรียนไม่มีกฎระเบียบและวิธีการจัดการเรียนการสอนหรือมีความร่วมมือกับผู้ปกครองในการป้องกันปัญหา แม้แต่ในครอบครัวเองก็เกิดความรุนแรงในการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะได้รับการเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่รุนแรงในด้านจิตใจและร่างกาย ที่น่าสนใจคือผลการวิจัยพบว่าเกิดการรับรู้ที่ต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง กล่าวคือเด็กจะรับรู้ว่าถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีการรุนแรงมากกว่าผู้ปกครองที่รับรู้ว่าได้กระทำรุนแรงกับเด็ก และผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวจะถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจมากที่สุด รองลงมาคือทางเพศและทางร่างกาย ส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยสามี
                            ความรุนแรงที่เกิดจากภัยทางสังคม เป็นความรุนแรงที่พบเห็นได้บ่อยมากตามข่าวของสื่อมวลชน เป็นการกระทำรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าล้างแค้น ล่วงละเมิดทางเพศและการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สรุปไว้ในปี 2544 ระบุว่าช่วงที่ผ่านมาการทำร้ายร่างกายมีอัตราเพิ่มขึ้น การข่มขืนอยู่ในจำนวนคงที่ ส่วนการใช้แรงงานเด็กมีแนวโน้มลดลงแต่เพิ่มขึ้นในบางภูมิภาค เช่น ภาคใต้ สำหรับเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมส่งสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนนั้นเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพของความรุนแรงในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
                            การคุกคามทางเพศเป็นภัยทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง จากผลการวิจัยพบว่าการคุกคามทางเพศมักเกิดในที่สาธารณะ พบมากที่สุดคือการเกี้ยวพาราสีจากคนแปลกหน้าในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นการคุกคามที่เกิดความรำคาญและหวาดกลัวอันมีผลร้ายต่อจิตใจ นอกจากนั้นการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะเช่น ป้ายรถเมล์ ถนนหนทาง ในช่วงนอกเวลาทำงานโดยคนไม่รู้จักก็มักจะเกิดขึ้นทั้งกับเพศหญิงและชาย โดยปัจจัยที่จะทำให้ถูกคุมคามทางเพศมากที่สุดคือความสวยความหล่อของหน้าตาและเรือนร่างหรือสัดส่วน การกระทำก็ตั้งแต่เอาอวัยวะเพศมาเสียดสีเพื่อสำเร็จความใคร่ จนถึงการลวนลามโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรุนแรงของภัยทางสังคมที่น่ากลัว

                                         
บทสรุป
        สิ่งที่เป็นปัญหาจากความรุนแรงนอกจากจะเกิดกับร่างกายและจิตใจแล้วส่วนหนึ่งยัง ฝังแน่นในอารมณ์และความรู้สึกของผู้ถูกกระทำต่อเนื่องไปอีกยาวนาน บางคนมีความหวาดกลัวทั้งผู้คนและสถานที่ บางคนรู้สึกทุกข์ทรมานและเจ็บปวด บางคนสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและไม่ไว้วางใจ ผู้อื่น และบางคนคิดว่าสิ่งที่ถูกกระทำเป็นตราบาปที่ติดตัวไปชั่วชีวิต
        ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาการกระทำรุนแรงระหว่างกันมิได้ยุติลงแต่เฉพาะบุคคลที่กระทำและ ผู้ถูกกระทำเท่านั้น ปัญหาส่วนใหญ่ลุกลามขยายผลไปถึงชุมชนรอบข้างและสังคม กลายเป็นปัญหาที่ทับถมและทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเป็นภาระที่คนในสังคมต้องเผชิญและร่วมกันรับผิดชอบในที่สุด